วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

เรียนภาษาอังกฤษอย่างไรให้เก่ง

                                                           เรียนภาษาอังกฤษอย่างไรให้เก่ง


ผู้เรียนภาษาอังกฤษทั้งคงจะเครียดและเหนื่อยกับคำถามนี้พอๆกับอาจารย์ผู้สอนเพราะปัญหานี้เป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาในยุคนี้เท่านั้น หากแต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ปัญหานี้ได้เกิดขึ้นกับมวลมนุษย์ชาติมานมนานแล้ว และแต่ละยุคสมัยก็มีวิธีเรียนรู้ภาษาที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าในยุคใด ปัญหาก็ยังเป็นปัญหาเดิมๆซึ่งก็คือ เรียนมาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่สามารถนำสิ่งที่เรียนมาสื่อใช้ได้
อันที่จริงแล้ว ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่โตอะไรมากมาย แต่ที่เป็นปัญหาเพราะเราไม่เข้าใจในธรรมชาติของภาษา เช่นเดียวกับที่เราไม่เข้าใจในธรรมชาติของหลายๆสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก เมื่อไม่เกิดความเข้าใจ ปัญหาย่อมไม่สามารถแก้ไขได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเช่นไร ไม่ว่าผู้สอนและผู้เรียนจะมีอันเป็นไป และคนรุ่นใหม่จะเกิดขึ้นมา หมุนเวียนไปอีกสักกี่ร้อยกี่พันปีก็ตาม
ธรรมชาติของการเรียนรู้ภาษานั้น คงไม่ต้องถามหรอกว่า จะต้องประกอบด้วยอะไรบ้างเราจึงจะสามารถพูดภาษาใดๆก็ตามในโลกนี้ได้ หากเราพิจารณาจากภาษาไทยของเรา เราจะพบว่า การที่เราพูด ฟัง อ่านเขียนภาษาได้นั้นเพราะเรามีโอกาสคลุกคลีกับภาษากันมานานหลายปี แต่เมื่อพูดถึงภาษาที่เราเรียนรู้เป็นภาษาที่สอง ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ญี่ปุ่น หรือภาษาอื่น เราต้องถามตัวเราเองว่า เราต้องการจะเน้นภาษานั้นๆในทักษะใด เพราะในแต่ละภาษาจะมีข้อจำกัดของภาษานั้นซึ่งจะมีผลต่อผู้เรียน เช่น หากเราต้องการเรียนภาษาจีนในแง่ของตัวเขียน เราควรเริ่มเรียนตั้งแต่เด็กเพราะวัยเด็กเป็นวัยที่สมองยังเปิดรับและพัฒนาได้ดี การจดจำอักษรจีนจึงง่าย หากใครคิดจะเรียนภาษาจีนเมื่อโตแล้ว จะต้องใช้ความพยายามเป็นหลายเท่า นั่นเป็นเรื่องข้อจำกัดของระบบภาษา แต่ทักษะที่ผู้เรียนในทุกภาษาสามารถเรียนรู้ได้ก็คือ ภาษาพูด เพราะภาษาพูดนั้นเราอาศัยเสียงเป็นสื่อ เพราะฉะนั้นการที่เราสามารถหาโอกาสให้ตัวเราเองได้ยินได้ฟังภาษานั้นๆมากเท่าใด ก็เท่ากับเป็นการพัฒนาศักยภาพภาษาพูดนั้นแล้ว
การที่นักเรียนไทยได้ใช้เวลาในการเรียนภาษาอังกฤษมาเป็นสิบปี แต่ก็ยังไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เมื่อเทียบกับคนไทยที่ไปเรียนเมืองนอกเพียงไม่กี่เดือน ก็สามารถพูดภาษานั้นๆได้ นั่นเป็นเพราะว่า คนที่ไปนั้นได้มีโอกาสได้ใช้ ดังนั้นการที่คนๆหนึ่งจะพูดภาษาไหนได้นั้น ต้องหาโอกาสใช้ภาษานั้นๆให้มาก การจะพูดภาษาใดได้ ก็ใช้หลักการเดียวกัน นั่นก็คือ หาโอกาสไปใช้ ไปคลุกคลีกับภาษานั้นให้มากที่สุดเพราะหากไม่ได้ใช้ ไม่นานสิ่งที่เราเรียนรู้มา ก็ต้องคืนสู่ผู้สอนไปในที่สุด แตกต่างก็จะแค่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น
อย่างที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่า ปัจจัยแรกในการเรียนรู้ภาษาและรักษาสิ่งที่ได้มาก็คือ โอกาส การที่มีโรงเรียนสอนภาษาเกิดขึ้นมากมายในเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพหรือเมืองหลวงใหญ่อื่นที่ภาษาอังกฤษเข้าไปมีอิทธิพลอยู่นั้น เป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้เรียนจะสามารถพาตัวเองไปฝึกฝนภาษาที่อยากเรียนรู้ได้ นั่นหมายความว่า ผู้เรียนจะต้องมีความกล้า กล้าที่จะผิดเพื่อที่จะถูก ดังนั้น เราจะเห็นว่า คนที่กล้าเท่านั้นที่จะสามารถเรียนรู้ภาษาได้เร็ว นอกจากจะเป็นคนกล้าแล้ว ยังต้องเป็นคนช่างสังเกตอีกด้วย หากผู้เรียนคนใดมีความกล้า เรียกว่าใจกล้าหน้าด้าน ก็จะสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ไม่ยาก ซึ่งผิดกับลักษณะของคนไทยที่เป็นคนค่อนข้างจะเก็บเนื้อเก็บตัว ขี้อาย และชอบจับผิด หัวเราะเยาะคนที่พูดภาษาอังกฤษที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ซึ่งก็เป็นสาเหตุของการไม่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างที่ควรจะเป็น เราต้อง ถามตัวเองดูว่า เราสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นคนกล้าได้มากแค่ไหน หากเราทำได้เร็ว ภาษาของเราก็จะพัฒนาไปได้เร็ว หากสังเกตดู เราจะพบว่า การที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่งลูกหลานไปเรียนกับฝรั่ง ก็เพียงแค่พยายามหาโอกาสให้ลูกหลาน ทำให้เขาเกิดความคุ้นเคย ทำให้เกิดความกล้า ไม่กลัวฝรั่ง เมื่อความกล้าเกิดขึ้น เขาเหล่านั้นก็จะสามารถพัฒนาภาษาที่อยากเรียนรู้ได้เร็วมากกว่าผู้อื่น นั่นเป็นเพราะเขาหาโอกาสให้กับตัวเอง สิ่งที่ต้องคิดต่อมาก็คือ คนที่มีเงินเท่านั้นหรือที่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ คำตอบก็คือ คนที่มีเงินมีโอกาสมากกว่าเท่านั้น แต่การเรียนรู้ภาษาไม่ได้มีเพียงช่องทางเดียว คนจนก็สามารถเก่งภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆได้ ขอเพียงแต่มีมุมมองที่ดีต่อสิ่งที่ทำ มองเห็นข้อดีให้มาก มีความมุ่งมั่น คุณสมบัติที่สำคัญในการพัฒนาทักษะทางภาษาก็ไม่แตกต่างกับทักษะการร้องรำทำเพลง การขับรถ ว่ายน้ำ อยากจะเก่งก็ต้อง กล้า ขยัน หมั่นฝึกฝน เคล็ดลับมันมีอยู่แค่นี้แหละ เหมือนกับการบอกว่า หากเราต้องการจะเป็นคนสุขภาพดี เราต้องทานอาหารที่ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนให้เยอะๆ อย่าเครียด เพราะฉะนั้น ความยากไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า เราไม่รู้ แต่อยู่ที่ว่าเราไม่ได้มีความตั้งใจที่แน่วแน่ในการทำสิ่งเหล่านั้นต่างหาก
ในยุคนี้ ยุคที่วิทยาการ เทคโนโลยี่เข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้มากขึ้น การใช้คอมพิวเตอร์ การดูรายการที่เป็นภาษาอังกฤษจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเรียนรู้ภาษาได้เป็นอย่างดี เพราะหากเราสังเกตดู เราจะพบว่าคนที่เรียนรู้ภาษาได้ดี จะต้องเป็นคนที่ดูทีวีเยอะ พูดคุยเยอะ ยิ่งดูมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสรู้ทั้งตัวภาษา สำนวน สำเนียง วิธีคิด วัฒนธรรมของคนที่ใช้ภาษานั้นได้มาก และนั่นหมายถึง การทีเราจะสามารถพัฒนาภาษาของเราได้มากขึ้นตามลำดับ
การดูภาพยนตร์ การฟังเพลง การอ่านการ์ตูน หนังสือนิทาน ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยน่าสนใจนัก เพราะดูแล้วเหมือนไม่เป็นวิชาการ การที่เราได้ทำสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ เรากำลังพัฒนาการเรียนรู้ภาษาโดยที่เราไม่รู้ตัวและเป็นธรรมชาติ การเรียนภาษานั้นมีทั้งลักษณะที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เราต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถเรียนรู้ภาษาในแบบที่เป็นทางการหรือในห้องเรียนได้มากและเรียนรู้ได้หมด เพราะความจริงก็คือ เราไม่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างจากห้องเรียนได้ ในทำนองกลับกัน เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆจากโลกภายนอกได้มากกว่าด้วยซ้ำ และเราต้องเรียนรู้กันไปจนตลอดชีวิต ดังนั้นสิ่งต่างๆที่อยู่รายรอบตัวนั่นแหละคือครูที่สำคัญที่สุดและเราต้องอยู่กับโลกและสิ่งรอบกายเราไปตลอดชีวิต ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่กับครูที่สอนหนังสือเราเพียงไม่กี่ปี และครูที่สอนหนังสือก็ต้องหาความรู้ที่อยู่รายรอบตัว ไม่ว่าจากหนังสือพิมพ์ เว๊บไซด์ กันตลอดชีวิตเช่นกัน
เราจะต้องทำอย่างไรกับตัวเราในฐานะผู้ที่ต้องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้ได้ หลายคนเป็นกังวลกับสำเนียงมาก เพราะหากสำเนียงไม่เหมือนแล้ว รู้สึกเสียความมั่นใจในการพูด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะสำเนียงนั้นเป็นสิ่งที่เราเลียนแบบได้ยากมาก นอกจากเราจะไปเติบโตที่ที่เขาพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการกันนั่นเลย คนที่พยายามจะเลียนสำเนียงให้เหมือนฝรั่งก็สามารถทำได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น สำเนียงจะมีปัญหากับผู้เรียนด้านใด ปัญหาที่ผู้เรียนกลัวก็คือ ฟังฝรั่งพูดแล้วไม่รู้เรื่องก็จะหาข้อแก้ตัวให้กับตัวเองก็คือ สำเนียง การเรียนรู้สำเนียงนั้น สามารถแก้ไขได้โดยการดูหนังฟังเพลงเยอะ เมื่อเราได้ยินเสียงนักแสดงพูดกันมากๆเข้า เราก็จะเริ่มคุ้นเคยและไม่กลัว ยิ่งในปัจจุบันนี้ โลกเราแคบลง เราสามารถฟังภาษาอังกฤษในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษแบบจีน ออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกัน หรืออินเดีย ดังนั้น ปัญหาเรื่องสำเนียงจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป หากเราหาเทปซีดี วีดีโอมาดูมาฟังบ่อยๆ แล้วไม่นานเราจะคุ้นเคย และเกิดความมั่นใจในการฟังมากขึ้น เมื่อเราฟังฝรั่งพูดแล้วเข้าใจมากขึ้น เราก็จะมีกำลังใจและมีความกล้าที่จะพัฒนาการเรียนรู้ต่อไป
สิ่งที่คนทุกชาติทุกภาษาต้องรู้ตรงกันก็คือ สำนวนและการออกเสียงต่างหาก สิ่งที่เป็นอุปสรรคของผู้เรียนภาษา ผู้เรียนชาวไทยนั้นจะติดนิสัยแบบเดิมก็คือ ออกเสียงตามใจฉัน เช่น เอาสระมาผสมกันเองแล้วก็ออกเสียงมั่วไปเรื่อยๆ การฝึกทำในลักษณะนี้ จะเกิดผลเสียก็คือ ผู้เรียนจะติดเป็นนิสัย และจะไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เจ้าของภาษาเขาพูดกันได้ ตัวอย่างเช่น คำว่า allow หากเราไม่รู้ เราก็จะนำเอาคำว่า al มาผสมกัน ออกเป็นเสียง อัล และ low มาผสมกัน ก็จะออกเสียงได้ว่า อัลโล ซึ่งเป็นการผสมเองคิดเองพูดเองเสร็จ เรียกว่าทำจนครบวงจร และก็ไปเปิดพจนานุกรมหาความหมายเอาทีหลัง สิ่งที่เราต้องแก้ไขก็คือ เปลี่ยนนิสัยการเรียนรู้ให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก หากพบคำไหนที่เราไม่เคยเจอ สิ่งที่ต้องทำก็คือ ไปหาการออกเสียงที่ถูกต้องให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะถามผู้รู้ เปิดtalking dictionary หรือ หาจาก computer ก็แล้วแต่ เราต้องได้การออกเสียงที่ถูกต้องก่อนเป็นลำดับแรก เช่น คำว่า allow คนทั้งโลกเขาออกเสียงว่า เออะ ลาว
แล้วเราไปออกเสียง อัลโล อยู่ประเทศเดียว แล้วใครที่ไหนจะมาเข้าใจเรา นี่เป็นเพียงคำหนึ่งจากอีกหมื่นคำที่เราต้องเรียนรู้ การออกเสียงของคำแต่ละคำนั้นแตกต่างกันไป เพราะในภาษาอังกฤษ มีการเน้น ไม่เน้น เน้นมาก เน้นน้อย แตกต่างกัน และหน้าที่ของคำนั้นๆก็ทำให้การออกเสียงของคำแตกต่างกันไปด้วย เช่นคำว่า present ถ้าใช้เป็นคำนาม หมายถึง ของขวัญ ก็จะออกเสียงว่า เพร เซิ่นท์ แต่ถ้าเรานำมาใช้เป็นคำกริยา ซึ่งหมายถึง นำเสนอ ก็จะออกเสียงว่า พรี เซ๊นท์ เป็นต้น หรือคำว่า attack คนไทยก็ออกเสียงว่า แอ็ทแท๊ค ซึ่งในภาษาอังกฤษเขาออกเสียงว่า เออะ แท๊ค สิ่งนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข เพราะหากไม่แก้ไขในเรื่องนี้แล้ว ต่อให้เรียนภาษาอังกฤษอีกนานแค่ไหน ก็ไม่สามารถพูดและฟังเขารู้เรื่องเพราะเราผิดกันตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
ประเด็นถัดมาก็คือ ผู้เรียนชาวไทยชอบเอาคำศัพท์ต่างๆมาผสมมาเรียงต่อๆกันเอง เพราะคิดว่าโครงสร้างของภาษาเขาเหมือนของเรา เอาเข้าจริงแล้วมันคนละเรื่อง เช่น เราต้องการจะสื่อว่า บ้านสวย บางคนพูดว่า house beautiful ซึ่งความผิดแบบนี้ เป็นความผิดที่เกิดจากความไม่เข้าใจในโครงสร้างของภาษาที่เรียน วิธีแก้ไขก็คือ เรียนรู้โครงสร้างพื้นฐาน หาหนังสือไวยากรณ์แบบง่ายๆ ขอเน้นว่าแบบง่ายๆ มีแบบฝึกหัดพร้อมเฉลยในตัว แล้วอย่านั่งอ่านแต่ไวยากรณ์จนจบเล่ม แต่ให้ศึกษาไปวันละเล็กละน้อย สิ่งที่ต้องทำก็คือ พยายามจำศัพท์ในรูปแบบประโยคไปเลย เช่น เราไปพบว่า The traffic is terrible.(bad) = การจราจรแย่มาก เราก็จำสำนวนนี้ไป หากเราต้องการจะบรรยายว่า อาหารแย่มาก เราก็เอาคำว่า อาหารเข้าไปแทนที่คำว่า traffic แบบนี้เรื่อยไป เราก็จะได้ประโยคใหม่ว่า The food is terrible/ bad. หากผู้เรียนทำในลักษณะนี้ วันละ3 ประโยค ปีหนึ่งก็จะจำประโยคใหม่ๆได้ถึง 1095 ประโยค ถามว่าพอไหม พอแล้ว ประโยคที่เราจำเป็นต้องใช้ในการสื่อสาร เพราะเราสามารถนำมาพลิกแพลงได้อีก คำศัพท์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเรียนรู้ภาษา เพราะหากเรารู้ศัพท์น้อย เราก็จะสื่อได้น้อย ดังนั้น ผู้เรียนต้องรู้ว่าตัวผู้เรียนเองต้องการพัฒนาทักษะในแง่ใดก่อนให้ได้เป็นลำดับแรก
กล่าวโดยสรุปก็คือ การเรียนภาษาอังกฤษในยุคนี้ค่อนข้างตะสะดวกสบายกว่ายุคก่อนๆมากนัก เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น talking dictionary หรือ จากคอมพิวเตอร์ หรือฝรั่งที่เดินอยู่เกลื่อนกลาดตามท้องถนน ไม่ต้องพูดถึงคนที่มีเพื่อนหรือแฟนเป็นฝรั่ง คนกลุ่มนี้จะได้เปรียบวันยังค่ำเพราะอยู่กับฝรั่งทั้งวันทั้งคืน
อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การเรียนรู้ภาษาของคนไทยไม่พัฒนาก็คือ ไม่ยอมหาเรื่องใหม่ๆมาคุยกับฝรั่ง เรียกว่าจะรอให้ฝรั่งเขามาป้อนให้ตลอดเวลา เราต้องการความรู้ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่องเที่ยว เรื่องความเชื่อ อาหารการกิน วัฒนธรรม และเรื่องแปลกอีกมากมาย ฝรั่งนั้นชอบของแปลก ไม่เฉพาะฝรั่งหรอกที่ชอบของแปลก คนทั่วโลกล้วนชอบของแปลก เราก็ต้องหาความรู้ในลักษณะนี้มาชวนฝรั่งคุย การชวนฝรั่งคุยนั้น เราจะได้ทั้งเพื่อนและ สำนวนเพราะหากมัวนั่งรอให้ฝรั่งเดินมาหา คงพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แน่ในชีวิตนี้
การฝึกพูดอีกวิธีหนึ่งก็คือ ออกเสียงตามโทรศัพท์มือถือ เรียกว่า พกติดตัวไปด้วย แต่ต้องรู้ความหมายด้วย เพราะหากส่งเสียงแล้วไม่รู้ความหมาย ก็จะหาประโยชน์จากสิ่งนั้นไม่ได้ ก่อนจะฟังเพลงหรืออยากจะเรียนรู้ประโยคใด เราต้องตรวจดูการออกเสียงให้ถูกต้องเป็นลำดับแรก จากนั้นก็นำมาฝึกอ่าน ฝึกฟัง ให้มาก หากไม่มีใครพูดด้วย ก็พูดกับตัวเองในกระจก ไม่มีใครเขาว่าเราบ้าหรอก
ในสมัยนี้ หนังฝรั่งมีทั้งบทพูดภาษาไทยกำกับ มีทั้งสองภาษา ยิ่งเป็นการง่ายที่จะเรียนรู้ภาษา การเริ่มทำไม่ยาก เพียงแค่เลือกเรื่องที่เราชื่นชอบมาหนึ่งเรื่อง เที่ยวแรกดูเอาเพื่อความสนุก เที่ยวที่สองดูเพื่อเรียนรู้ภาษา รอบนี้ต้องยอมเหนื่อยหน่อย ต้องจดคำพูดที่เขาเขียนไว้ให้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษลงไว้ในสมุด ไม่ต้องมาก เอาแค่วันละ 5 ประโยค เมื่อได้ประโยคที่ต้องการแล้ว เราก็รู้ความหมายทั้งสองภาษาแล้ว จากนั้น ก็เปิดหนังดูอีกรอบ คราวนี้ไม่ต้องเปิดภาษาไทยดู เราจะเข้าใจสิ่งที่เขาสื่อกันมากขึ้น เพราะเรามีบทที่เราสกัดเอาออกมาเองกับมือ ลองทำดู แล้วไม่นานหรอก คุณจะพบว่าตัวคุณเองนั้นพัฒนาไปไม่น้อย
ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย และหากได้มาแล้วไม่หมั่นทำ สิ่งเหล่านั้นก็จะเสื่อมสลายไปในที่สุด เหมือนกับการขับรถ หากเราเรียนรู้แต่ทฤษฎี แต่ไม่เคยออกมาลองขับบนถนน เราก็จะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้มาก เช่นเดียวกับการเรียนรู้ภาษา หากเราเรียน เรารู้ เราพูดแต่ในบ้าน เรียนแต่ในโรงเรียน แต่ไม่เคยที่ออกมาพูดกับฝรั่งตัวเป็นๆ เราก็จะไม่สามารถพูดได้หรอก เพราะเวลาเราพูดนั้น ไม่ใช่แค่ตัวภาษาเท่านั้นที่เราต้องรู้ เราต้องรู้วัฒนธรรมและฝรั่งแต่ละคนก็มีวิธีการพูดในรูปแบบของเขาเหมือนกับที่คนไทยเราก็มีรูปแบบในการพูดแตกต่างกันออกไปเช่นกัน
สรุปก็คือ หากต้องการเรียนภาษาที่สองให้ประสบผลสำเร็จ ลองทำตามที่แนะนำมาดู แล้วคุณก็จะรู้ว่า ภาษาเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและพัฒนาได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น