วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

เรียนอังกฤษจาก Toeic

Mr. Lee’s conciliatory comments appear to have been….by some of his readers.
a. misinterpret b. misinterpreted c. misinterpretation d. misinterpreting
ข้อคิดเห็นที่เสนอให้มีการไกล่เกลี่ยของคุณลีดูเหมือนจะมีผู้อ่านบางคนตีความผิด
ข้อนี้ทดสอบความรู้คำนามถูกกระทำ คำนามคือ comments ไม่สามารถทำกริยาได้ จึงต้องเลือกข้อ b ตามกฎ have been + v3 ตอบข้อ b ความรู้ไวยากรณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับข้อนี้
คำที่น่าสนใจมีสองคำสำหรับข้อสอบข้อนี้ คำแรกคือ conciliatory ออกเสียงว่า เคิน (ซี) เลียท ทอ รี่ หมายถึง ที่ไกล่เกลี่ย ที่ประนีประนอม อยู่หน้าคำไหนก็หมายถึง คำนั้นมีลักษณะอย่างที่ว่า
• a conciliatory note = โน้ตไกล่เกลี่ย /message = ข้อความไกล่เกลี่ย
• The boss is conciliatory in discussing the current controversy.
• = หัวหน้าหารือไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้
คำกริยาคือ conciliate เคิน (ซี) เลีย อิท หมายถึง ไกล่เกลี่ย เช่น
The president tried to conciliate the workers but failed.
= ท่านประธานพยายามจะไกล่เกลี่ยพนักงานแต่ก็ล้มเหลว
ในโลกธุรกิจมี 4 อย่างที่ต้องทำคือ 1. compromise (คาม) เพรอะ ม๊ายส์ ก็คือ ประนีประนอม 2. bargain (บาร์) เกิ่น ต่อรอง 3. negotiate นี (โก) ชี เอท คือ เจรจา แล้วก็ 4. conciliate จำไว้ใช้เลยก็ได้
ส่วนคำที่น่าสนใจที่เราได้ยินกันในช่วงนี้ก็คือ ปรองดอง เขาใช้ว่า to reconcile อ่านว่า (เร๊ค) เคิน ซายล์ เช่น
The government is trying to reconcile the differences in the country.
= รัฐบาลกำลังพยายามปรองดองความแตกต่างในประเทศอยู่
That issue cannot be reconciled.
= ประเด็นนั้นปรองดองไม่ได้ (เป็นไงเป็นกัน)
และสำนวนสุดท้ายของคำนี้คือ to reconcile + oneself to + สิ่งใดก็ตาม หมายถึง ปลง หรือทำให้ตัวเองยอมรับสิ่งนั้นได้ เช่น
I cannot reconcile myself to my dad’s death.
= ฉันทำใจยอมรับ (ปลง) กับการจากไปของพ่อไม่ได้
Finally, he reconciled himself to the fact that he had to live without her.
= ในที่สุด เขาก็ทำใจยอมรับ (ปลง) กับความจริงที่ว่า ต้องอยู่โดยไม่มีเธอให้ได้
The government is working hard on the national reconciliation.
= รัฐบาลกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อทำการปรองดองของคนในชาติ
Mom is expecting a reconciliation with her husband.
=แม่คาดหวังจะคืนดีกับพ่อ
เพราะฉะนั้น เวลาต้องการจะบรรยายว่า อยากให้ใครมาปรองดองกับใครก็ใช้สำนวนนี้ได้ กริยาที่ใช้ก็เป็น to ask for = ขอให้ to call for = เรียกร้องให้ to hope for = หวัง หรืออยากจะสวดมนต์ภาวนา ก็ใช้ว่า to pray for = สวดอ้อนวอน เช่น We pray for a conciliation between the two parties. = เราสวดอ้อนวอนให้มีการคืนดีกันระหว่างสองฝ่าย หรืออยากให้พ่อคืนดีกับลูก หรืออยากให้น้องคืนดีกับหลาน ก็ว่ากันไป
ส่วนคำว่า misinterpret ก็คือ ตีความผิด มาจากคำว่า mis= ผิด + interpret ตีความ ง่ายไหม อ่านว่า มิส อิน(เทอร์ ) พริท ดูอีกหนึ่งคำ misunderstand = เข้าใจผิด มาจาก mis = ผิด + understand = เข้าใจ เช่น
He has misinterpreted my statement.
= เขาตีความข้อความของฉันผิดไป
You misinterpreted my intentions.
= เธอตีความเจตนาของฉันผิดไป
คำว่า misinterpret มาจาก กริยา interpret = ตีความ คำนามคือ an interpreter = ล่าม
วันนี้ อย่างน้อย ก็สามารถเอาเรื่องปรองดอง ประนีประนอมไปใช้ได้ ก็น่าจะ happy แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น