ทีนี้ก็มายลสุภาษิตอีกบทหนึ่งที่มีความหมายตรงข้าม จะเป็นอะไรไปบ่ได้ดอกนอกจากสุภาษิตที่ว่า ตัวไกล ใจเป็นอื่น ซึ่งภาษาอังกฤษเขาใช้กันว่า
Out of sight, out of mind
สำนวนดังกล่าว หมายถึง เมื่อไม่เห็นหน้าหรือเห็นศีรษะกันมีหรือที่จะมาเห็นใจกันหรือคิดถึงกัน (ฝันไปเถอะ คนสมัยนี้ตัวเลือกเยอะจะตาย) ตรงกับสำนวนไทยว่า สามวันจากนารีเป็นอื่น ส่วนสำนวนว่า “out of” หมายถึง ไม่มีซึ่งสิ่งนั้นหรืออยู่ห่างจากสิ่งนั้น เช่น
- He is out of work.
เขาตกงานเลี้ยว
- This house is out of the way.
บ้านหลังนี้อยู่ในชนบท
- The information is out of date.
ข้อมูลนี้ล้าสมัยไปแล้ว (คุณ)
ทั้งหมดคือสิ่งที่สุภาษิตบทนี้ให้กับคุณ รับไหวไหมครับ
มาถึงสุภาษิตบทที่สองที่ว่า
Actions speak louder than words
สุภาษิตบทนี้เขาพูดถึงเรื่องการพล่ามของมนุษย์ ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมคนเราเกิดมามันต้องพูดกันมากจังเลย จริงอยู่ว่าคนเราเกิดมาพร้อมกับปากและปากก็มีไว้พูด แต่เมื่อพูดแล้วไม่ทำนี่แหละคือตัวปัญหา สุภาษิตบทนี้จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อต่อว่าต่อขานคนที่มีแต่พูดไม่ยอมลงไม้ลงมือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับโลก แปลเป็นภาษาของหมู่เฮาได้ว่า สิ่งที่กระทำนั้นมันพูดดังกว่าคำพูด
การแปลแบบนี้จะไม่ค่อยสละสลวยสักเท่าใดแต่ก็ต้องทนอ่านกันไป เพราะหลักของการแปลคือต้องพยายามคงทั้งความหมายและโครงสร้างเดิมไว้ให้สุดกำลังก่อน แต่ถ้าไม่ได้จึงค่อยทำการตลบตะแลงบางส่วนได้ สุภาษิตบทนี้จึงแปลอีกทีได้ว่า ทำดีกว่าพูด
สำนวนอื่น ๆ ที่คนไม่รู้และควรจะต้องรู้ได้แล้ว :
1. คำว่า “actions” นั้นอ่านว่า แอ๊คเชิ่นส์ ไอ้ที่มี “s” นั้นก็ไม่ใช่อะไรหรอก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคำ ๆ นี้หมายถึง สิ่งที่เรากระทำ ไม่ได้หมายถึง การกระทำ คำนี้เขาเล่นได้ทั้งบทบาทของคำนามนับได้และนับไม่ได้ เรามาดูกันว่าบทบาทไหนจะประทับใจเรามากกว่ากัน
เมื่อเรานำเขามาใช้ในรูปของคำนามนับไม่ได้ ก็จะหมายถึงขบวนการหรือขั้นตอนในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราต้องการให้อุบัติขึ้น เพื่อใช้จัดการกับปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เช่น
- We need more action and less talk.
เราต้องการการกระทำมากขึ้นและฝอยให้น้อยลง
สำนวน “to take action” ใช้เมื่อต้องการจะบอกว่า ต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนกับสำนวนภาษาง่าย ๆ ว่า to do something เช่น
- If you want to see something better, do something.
(Take action!)
ถ้าต้องการจะเห็นสิ่งที่ดีขึ้น ต้องทำอะไรแล้วล่ะ
และอะไรก็ตามที่ “in action” นั่นก็หมายความว่า สิ่งนั้น หรือมันผู้นั้นกำลังหาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ เช่น
- I’d like to see the air conditioner in action.
อยากเห็นตอนที่แอร์มันทำงาน
- The boss visits us often just to see us in action.
เจ้านายโคตรขยันมาเยี่ยมเราก็เพียงเพื่อมาให้เห็นประจักษ์กับเนตรว่าพวกเรากำลังปฏิบัติหน้าที่กันอยู่
ทีนี้ก็จะพามาเยี่ยมชมวงการภาพยนตร์กันซักหน่อยโดยเฉพาะในช่วงที่มีการถ่ายทำ นักแสดงจะต้องเตรียมพร้อมเมื่อผู้กำกับแหกปากว่า “Action!” นั่นก็หมายถึง เริ่มแสดงได้แล้ว
และคำว่า “action-packed” นั้นเขาเชิญมาใช้บรรยายภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยบทบู๊ทะลุทะลวงจอ เผลอ ๆ คนดูตายคาโรง เพราะเกิดอาการมันส์ในอารมณ์ขึ้น คำว่า “packed” นั้นหมายถึง ที่อัดแน่นไปด้วย ดังในตัวอย่าง เช่น
- The Terminator II is an action – packed film.
หนังเรื่องคนเหล็กภาคสองเป็นหนังบู๊
- Buses are packed with people.
รถเมล์อัดแน่นไปด้วยคนเต็มไปหมด
- The pupil’s schoolbag is packed with books.
กระเป๋านักเรียนอัดแน่นไปด้วยหนังสือ
คุณทราบไหมว่าสำนวนที่คุณพลอยได้ไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ก็คือ “to be packed with” ซึ่งหมายความว่า อัดแน่นไปด้วยสิ่งของหรือคนหรือสัตว์ก็ได้
- This morning the bus was packed like sardines.
เช้าวันนี้รถเมล์แน่นยังกับปลากระป๋อง จะแน่นขนาดไหนก็ลองนึกภาพของปลากระป๋องดูเอาเองก็จะเห็นภาพ และถ้าคุณต้องการจะให้ใครเขาเห็นภาพแบบนี้ในสถานที่ใด คุณก็นำเอาสำนวนนี้ไปใช้ได้เลย
ส่วนในอีกบทบาทหนึ่งของคำว่า “action” ก็คือ คำนามนับได้ ซึ่งจะหมายความว่า สิ่งที่กระทำในครั้งหนึ่ง ๆ หรือ การเคลื่อนไหวของสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้ เช่น
- His action has saved her life.
สิ่งที่เขากระทำนั้นได้ช่วยชีวิตของเจ้าหล่อนไว้
และก็ไม่ต้องไปติดยึดอะไรมากกับการใช้ในส่วนนี้ ให้จำไว้แค่ว่า ถ้าต้องการจะหมายถึง สิ่งที่กระทำ ก็ใช้ในรูปของคำนามนับได้ ส่วนความหมายอื่นก็เห็นจะต้องค่อย ๆ ทยอยจำกันไป
และคราวนี้ก็มาถึงคำว่า “words” กันบ้าง ไอ้ที่มันมี “s” ขึ้นมา ก็ไม่ใช่เพราะว่า เห็นคำว่า “actions” มี กลัวจะน้อยหน้าก็เลยขอมี “s” กับเขาบ้าง เพราะความจริงก็คือเวลาคนเราพูดถึงคงไม่มีใครพูดเพียงคำเดียว (นอกจากคนใบ้เท่านั้น) นอกนั้นเมื่อได้อ้าโอษฐ์แล้วต้องมีอันพูดมากกว่าหนึ่งคำ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่มันจะมี “s” ได้ จริงไหม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น